หุ้นอสังหาฯ เสี่ยงถูกเทกฯ NCH เมิน RICHY อ้าแขนรับย้ำต้องหนุนโต

โบรกเกอร์ มองหุ้นอสังหาริมทรัพย์ RICHY -LPN – NVD -NCH เสี่ยงเป็นเป้าหมายถูกซื้อกิจการ เหตุราคาหุ้นปรับตัวลงหนักต่ำกว่าบุ๊คแวลูมาก ขณะผลการดำเนินงานดีต่อเนื่อง 5 ปี บอส “เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง” ยันไม่เปิดทาง มั่นใจสภาพคล่องสูง ผลงานดีไม่มีปัญหาและการจ่ายปันผลสม่ำเสมอสะท้อนราคาหุ้นสู่ปกติ ส่วนราคาหุ้นต่ำกว่ายบุ๊คแวลู เป็นไปตามภาวะตลาดทั่วโลก บิ๊ก “ริชี่เพลซ 2002 ”เผยพร้อมเปิดทาง หากหนุนธุรกิจให้เติบโต มั่นใจบริษัทมีกำไรต่อเนื่องและหนีขาดทุนได้แม้โควิด-19 ระบาด

เป็นที่ทราบกันดีกว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังปี2562สะท้อนจากการชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ รวมถึงยอดขายที่ลดลงกว่า 20-30% จากช่วงครึ่งปีแรกและยอดขายทั้งปีที่หดตัวกว่า 30% จากปีก่อนหน้า เพราะภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ส่งผลให้เกิดหนี้ครัวเรือนขยับเพิ่ม รวมถึงความไม่แน่นอนของการเมือง อีกทั้งสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯที่ยืดเยื้อ อีกทั้งผลกระทบจากมาตรการจำกัดวงเงิน อย่างมาตรการกำหนดสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 ของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติทำให้ยอดขายปรับตัวลดลง จึงเสมือนความซ้ำร้ายเพิ่มอีก

กระทั่งปลายปีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็มาสร้างกระแสให้ทั่วโลกมิอาจดำเนินชีวิตตามปกติ แต่ละประเทศล็อกดาวน์ตามมาตรการป้องกัน และแน่นอนว่าวิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป ความอึมครึมของภาวะเศรษฐกิจทำให้คนระมัดระวังในกาารจับจ่ายใช้สอย

ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ก็ระมัดระวังและเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับตัวมาอยู่ที่ 3.05 % ในไตรมาสแรกปีนี้ จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 2.98 % และตัวเลขที่แบงก์ชาติ ได้สำรวจฝั่งความต้องการสินเชื่อทั้งระบบในไตรมาส 2 ปี 2563 เมื่อดูในส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ผ่านสถาบันการเงินต่างพบว่าตัวลงลงมาติดลบเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50 จากเดิม ติดลบ 30 ซึ่งสะท้อนความหมายว่าความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลง

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานั้น ดูเหมือนว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้สดใสอย่างที่ควรจะเป็น เพราะหลายบริษัทพยายามจะผุดโครงการใหม่ๆ ตามแผนงานแต่ละปี กลับต้องพับแผนหรือชะลออกไปและหลายโครงการที่ยังค้างเติ่งและขายไม่ได้ตามเป้า ส่งผลต่องานในมือหรือ Backlog ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญในการลดความผันผวนของรายได้และกำไรปกติของบริษัท ทำนองว่าใครมีงานในมือหนาแน่นก็ยังพอหายใจไปได้อีกระยะ เพราะสถานการปัจจุบันพอจะมองออกแล้วว่าคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ในการฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯไตรมาส 2 ปี 2563 ยังถือว่า มีสัญญาณดีขึ้นเล็กน้อยหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีค่าดัชนีต่ำกว่าปัจจุบันอยู่ที่ 41.2 แต่ยังคงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอสังหาฯมีทิศทางที่ดีขึ้น ภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 ไม่เกิดขึ้นในไทยติดต่อกันยาวนานกว่า 3 เดือน

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์จากหลายสำนัก มองว่าภาพรวมธุรกิจอสังหาฯ ครึ่งหลังปี 63 จะฟื้นตัวขึ้น ตามสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับรอบธุรกิจอสังหาฯ ที่โดยปกติช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรกเพราะมีหลายโครงการคอนโดฯ ใหม่ที่กำหนดสร้างเสร็จพร้อมโอนฯ ช่วงครึ่งหลังโดยเฉพาะไตรมาส 4 แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังเรื่องสภาพเศรษฐกิจที่ยังอ่อนตัว และปัญหาเรื่องคุณภาพของ Backlog ว่าการโอนฯ ของลูกค้ามีประสิทธิภาพเพียงใด ซึ่งย่อมมีผลต่อการรับรู้รายได้และกระแสเงินสดของผู้ประกอบการตามมา

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาพบว่าราคาหุ้นหลายตัวปรับลงมาแรง จนมี Valuation น่าสนใจ และอัตราเงินปันผลอยู่ในระดับสูงเฉลี่ย 5-8% เป็นปัจจัยหนุนต่อการลงทุนในหุ้นอสังหาฯ ภายใต้ภาวะดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง

ที่มา https://mgronline.com/stockmarket/detail/9630000074053

Related links